ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อประมาณร้อยกว่าปีมีเรื่องเล่าว่าได้มีชาวกะเหรี่ยงมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมห้วย ณ บริเวณริมห้วยมีต้นยางใหญ่อยู่ ๒ ต้น ซึ่งอยู่ระหว่างบ้านตากแดดและบ้านยางคู่ ปัจจุบันคือหมู่ ๒ กับ หมู่ ๖ ต้นยางดังกล่าวชาวบ้านเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่ ต่อมาในช่วงฤดูฝนได้เกิดน้ำป่าไหลหลากทำให้ต้นยาง ทั้งคู่โค่นล้มขวางลำห้วยแต่ไม่มีผู้ใดสามารถนำต้นยางดังกล่าวขึ้นมาได้และมีคำเล่าขานกันว่าต้นยางนั้นล้มทับสัตว์ใหญ่ชนิดหนึ่งที่จะมาทำร้ายชาวบ้านจึงมีความเชื่อกันว่าต้นยางนั้นได้ช่วยชีวิตชาวบ้านให้ปลอดภัยจาก สัตว์ร้ายต่อมาจึงได้มีการตั้งชื่อตำบลว่า "ยางหัก" จนถึงปัจจุบันนี้
Â
การจัดรูปองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. ๒๕๓๗ และแก้ไขเพิ่มเติมจนถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๔๖ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางให้กับส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการบริหารท้องถิ่นตนเองเพื่อสนองตอบต่อความต้องการและสามารถแก้ไขปัญหาของประชาชนได้อย่างแท้จริงและยังเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจจากหน่วยงานส่วนกลาง,ส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๒ สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบลยางหักยกฐานะมาจากสภาตำบลยางหักเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐
Â
วิสัยทัศน์ องค์การบริหารส่วนตำบลยางหัก
ดำเนินไปในทางสายกลาง
เคียงข้างประชาชนในตำบล
เป็นไปตามเหตุตามผล
อยู่บนหลักความรู้ควบคู่คุณธรรม
พร้อมรองรับกระแสโลกาภิวัตน์
พัฒนาสู่ความเจริญก้าวหน้าที่สมดุลและยั่งยืน